วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ช้างเอเซีย

ช้างเอเซีย


สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Elephas maximus

ลักษณะทั่วไป
     ตัวผู้มีงาเรียกว่า "ช้างพลาย" แต่บางตัวไม่มีงาเรียก "ช้างสีดอ" ตัวเมียปกติไม่มีงาเรียก "ช้างพัง" แต่บางตัวอาจมีงาสั้น ๆ เรียกว่า "ขนาย" หนังบริเวณลำตัวหนาราว 1.9-3.2 เซนติเมตร เป็นสัตว์กระเพาะเดียว มีฟัน 26 ซี่ งาคือฟันตัดที่เปลี่ยนแปลงไป จมูกเป็นงวงยาว หลังโก่งโค้งเป็นรูปโดมตลอดแนวหลัง เท้าหน้ามีเล็บ 5 เล็บ เท้าหลังมี 4 เล็บ ปลายงวงมีติ่ง น้ำหนักประมาณ 3-4 ตัน
     
ถิ่นอาศัย, อาหาร
     ช้างเอเชียพบในเนปาล บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย สุมาตรา
     ได้แก่ หญ้า ใบไม้ หน่อไม้อ่อน ชอบกินต้นไผ่อ่อนและใบไผ่มาก ในหน้าแล้งชอบกินใบตองและหยวกกล้วยเป็นพิเศษ

พฤติกรรม, การสืบพันธุ์
     ชอบอยู่รวมกันเป็นโขลง แต่ละโขลงจะมีตัวเมียเป็นจ่าโขลง ส่วนใหญ่ช้างออกหากินในเวลากลางคืน โดยจ่าโขลงจะเป็นผู้นำโขลงในการออกหากิน หาแหล่งน้ำหรือนำโขลงหนีศัตรู ช้างเป็นสัตว์ที่กินอาหารจุมาก ในขณะที่ช้างยังตื่นอยู่จะกินอาหารเกือบตลอดเวลา ช้างทั้งโขลงมีนิสัยชอบทำอะไรพร้อมๆกัน คือเมื่อถึงเวลาออกหาอาหารก็จะออกหาอาหารพร้อมๆกัน เมื่อจะหยุดก็จะหยุดพร้อมๆกัน ช้างจะยืนนอน แต่มีบ้างเหมือนกันที่นอนตะแคงหลับ

     ช้างเอเชียผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุได้ 8 -12 ปี ตั้งท้องนาน 19 -21 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว อายุยืนประมาณ 70 ปี

สถานภาพปัจจุบัน
     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

สถานที่ชม
      สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์สงขลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น